Our score


8.8

[รีวิว] FUJIFILM GFX100S II กล้องในฝันสาย Portrait ฉีกนิยามเดิม ๆ ของมีเดียมฟอร์แมต



FUJIFILM GFX100S II กล้องมีเดียมฟอร์แมต 102 ล้านพิกเซล เปิดประสบการณ์ « More Than Full frame »

FUJIFILM GFX100S II การมาของกล้องมีเดียมฟอร์แมต 102 ล้านพิกเซล ที่อัปเกรดสเปกแบบรอบด้าน น่าใช้งานมากขึ้น พร้อมสี Film Simulation ยอดฮิตของค่ายฟูจิ สวยจบหลังกล้องได้แบบ SOOC « Straight Out Of Camera » แต่คุณภาพระดับมืออาชีพ เก็บได้ทุกดีเทล !

  1. เซนเซอร์มีเดียมฟอร์แมต 102 ล้านพิกเซล
  2. ชิปประมวลผลใหม่ X Processor 5 อัปเกรดระบบโฟกัสใช้งานได้ดีกว่าเดิม
  3. มีกันสั่น 5 แกน ในบอดี้ ชดเชยได้ถึง 8 สต็อป
  4. มิติภาพของมีเดียมฟอร์แมตสุดอลังการ
  5. สีไฟล์ระดับ 16-bit
  6. ช่องมองภาพ EVF 5.76 ล้านจุด 0.84x 120fps ใหญ่สบายตา
  7. จอ LCD Touchscreen 3″ แบบ Tilt 2.36 ล้านจุด พับได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
  8. สีสวยด้วย Film Simulation ครบ ๆ 20 แบบ
  9. มีฟีเจอร์หน้าเนียนจบหลังกล้อง

จุดสังเกต

  1. ขนาดไฟล์ 102 ล้านพิกเซลค่อนข้างใหญ่ แต่มีตัวเลือกขนาดไฟล์ Lossless, Compress, Uncompress มาให้
  2. ขนาดอนุกรมที่ใหญ่ และหนักกว่า Full frame
  3. หน้าตาบอดี้เหมือนกับรุ่นก่อนหน้า
  4. ราคา…


  • คุณภาพไฟล์


    10.0


  • บอดี้ / การจับถือ


    9.0


  • มิติภาพ


    10.0


  • สี Film Simulation


    10.0


  • สเปกโดยรวม


    8.0


  • แบตเตอรี่


    9.0


  • ความคุ้มค่า


    7.5


  • การพกพา


    7.0







หากใครเคยได้จับ ได้ใช้งานกล้อง ‘Medium Format’ กันมาบ้าง อาจจะรู้สึกว่ากล้องประเภทนี้น่าจะเหมาะกับการถ่ายสตูมากกว่า เนื่องจากน้ำหนัก และระบบโฟกัสที่ไม่ได้รวดเร็วเท่าไรนักแม้จะให้คุณภาพที่สูงกว่า Full frame ก็ตาม แต่สำหรับยุคปัจจุบันต้องบอกว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วครับ อย่าง ‘FUJIFILM GFX100S II’ กล้องมีเดียมฟอร์มแมต 102 ล้านพิกเซล ที่เราได้มารีวิวในวันนี้ ระบบโฟกัสไวขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งการ tracking วัตถุ คน, ดวงตา, สัตว์, ยานพหนะอื่น ๆ ที่ใช้ได้จริง ฉลาดแถมขนาดตัวพอ ๆ กับกล้องฟูลเฟรมเลย !

FUJIFILM

แถมเจ้า GFX100S II ราคายังชนกับกล้องฟูลเฟรมอีกด้วย กับค่าตัวไม่ถึง 200,000 บาท แต่ได้คุณภาพที่เหลือกว่าตามวลี “More Than Full frame” ที่ค่ายภูเขาไฟฟูจิเขาภูมิใจนักหนา เหนือกว่าทั้ง Resolution ,Dynamic Range, Bokeh, Color พร้อม Film Simulation ฟีเจอร์เด็ดของกล้องฟูจิ ตลาดฟูลเฟรมเราไม่ทำ เราขอโดดมาทำอะไรที่มันเจ๋งกว่านั้น

ในรีวิวครั้งน่าจะเน้นหนักไปที่ด้านภาพนิ่งเป็นหลักครับ ว่าเหนือฟูลเฟรมยังมีมีเดียมฟอร์แมตมันเป็นยังไง รวมถึงเทคโนโลยีมีเดียมฟอร์แมตในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน… เอาล่ะ เราไปดูพร้อม ๆ กันได้เลย

FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR @ 1/250sec / F1.7 / ISO 80 + Blackmist filter สีฟิล์ม Classic Chrome

สเปก FUJIFILM GFX100S II

  • เซนเซอร์ 102MP CMOS II
  • X-Processor 5
  • กันสั่น 8 สต็อป
  • สีฟิล์ม 20 แบบ รวม Reala ACE
  • อัปเกรดระบบโฟกัส Face / Eye / Animal / Birds / Cars / Trains / Motorcycle / Bicycle / Airplane / Insect
  • ช่องมองภาพ EVF 5.76 ล้านจุด 0.84x 120fps
  • จอ LCD Touchscreen 3″ แบบ Tilt 2.36 ล้านจุด
  • ถ่ายภาพต่อเนื่อง 7fps
  • 4K 30p 10-bit 4:2:2
  • Apple ProRes 422 ผ่าน USB-C
  • F-Log2
  • Pixel Shift Multi-Shot 400MP
  • SD Card UHS-II 2 ช่อง
  • แบตเตอรี่ NP-W235
  • น้ำหนัก 883 กรัม

สัมผัสแรก GFX100S II หน้าตากลิ่นอายเดิม แต่สเปกภายในสุดแรง

แรกสัมผัสเจ้า GFX100SII ต้องบอกว่าหน้าตามาในทรงเดียวกับรุ่นพี่ในเจนที่แล้วอย่าง GFX100S และ GFX50SII เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการจับถือกริปที่ถนัดมืออยู่แล้ว ปุ่มต่าง ๆ คือไม่ต้องปรับตัวจากรุ่นก่อนเลย กับ Sub LCD ขนาด 1.8 นิ้ว ไว้ให้เรามองค่ากล้องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่ชอบเลยคือจอ LCD หลังกล้องระบบสัมผัสแบบ tilt 2.36 ล้านจุด ที่นอกจากจะละเอียดสู้แสงได้ค่อนข้างดีแล้ว มันพับได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอนเลยครับ สายถ่ายภาพแนวตั้งอย่าง portrait นี่เรียกว่าสะดวกสุด ๆ เพราะการใช้งานในลักษณะของภาพนิ่งจอแบบนี้จะปรับมุมได้รวดเร็วกว่าจอ vari-angle พอสมควร

This image has an empty alt attribute; its file name is DSCF0204-1600x1067.jpg
เซนเซอร์ Medium Format 102MP CMOS II ใหญ่เบิ้ม

แต่กับสเปกภายในนี่เรียกว่าก้าวกระโดดเลยครับ ขับเคลื่อนด้วยหัวใจหลักเซนเซอร์ขนาดมีเดียมฟอร์แมต 102 ล้านพิกเซล CMOS II จับคู่กับชิปประมวลผลรุ่นใหม่ X-Processor 5 ที่ทรงพลังมากขึ้น ทำให้การส่งข้อมูลรวมถึงระบบโฟกัสทำงานได้ว่องไว และฉลาดขึ้นด้วย algorithm AF ตัวล่าสุด ที่สำคัญชุดกันสั่น 5 แกน ในรุ่นนี้ยังถูกยกเครื่อง เคลมว่าชดเชยสปีดชัตเตอร์ได้สูงสุดถึง 8 สต็อป กันเลยครับ ซึ่งในกล้องที่ความละเอียดสูงแบบนี้ ความสั่นไหวเล็กน้อยอาจทำให้ภาพเบลอขาดความคมชัดได้ กันสั่นในบอดี้จึงมีความสำคัญมาก ๆ (รุ่นก่อนเคลมไว้แค่ 6 สต็อป)

FUJIFILM
จอ tilt พับได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอนสุดสะดวก

ช่องมองภาพในรุ่นนี้ใหญ่เต็มตาสะใจกว่าเดิม ด้วยกำลังขยาย 0.84x ความละเอียด 5.76 ล้านจุด สว่าง ละเอียด กว้างสบายตา แม้ใส่แว่นก็สามารถใช้งานได้แบบไม่ติดขัดใด ๆ (อัปเกรดขึ้นมาจากกำลังขยาย 0.77x 3.69 ล้านจุด ในรุ่นก่อน)

FUJIFILM
ช่องเสียบไมค์/หูฟัง, USB-C, พอร์ต multi, Sync Flash

ในขณะที่ตัวบอดี้ทำจาก magnesium alloy แข็งแรงทนทาน มีซีลกันฝุ่นกันละอองน้ำรอบตัว กับน้ำหนักบอดี้อยู่ที่ 883 กรัม ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างแตกจากบอดี้ฝั่งฟูลเฟรมตัวท็อปซักเท่าไรครับ พอ ๆ กันเลย แต่ที่ต่างคือเลนส์ตระกูล GF ของมีเดียมฟอร์แมตนั้นค่อยข้างมีน้ำหนัก กับขนาดใหญ่โตกว่า เพราะต้องรองรับวงภาพขนาดใหญ่ จุดต่างมันอยู่ตรงนี้ล่ะครับทำเรื่องการพกพาอาจจะไม่คล่องตัวเท่าฟูลเฟรม (แต่ถ้าเน้นคุณภาพแบบสุดติ่งก็ยอมรับในจุดนี้ล่ะครับ)

FUJIFILM
ช่องเสียบการ์ด SD UHS-II ความเร็วสูงแบบคู่

ระบบโฟกัสเจนใหม่ ของดี ใช้งานสะดวกสุด ๆ

ด้วยความที่ใช้ทั้งเซนเซอร์ใหม่ บวกกับชิปประมวลผลที่แรงกว่าเดิม ระบบโฟกัสของเจ้า GFX100S II นี่คือทำงานได้ดีมากแม้จะเป็นกล้องมีเดียวฟอร์แมตก็ตามครับ จากส่วนตัวผู้เขียนเคยใช้ GFX50S II มาก่อน ซึ่งเป็น Contrast Detection ล้วน พอมาเจอ GFX100S II คือว้าวเลย เพราะมันสามารถใช้โหมด AF-C โฟกัสติดตามวัตถุได้หนึบ ๆ แบบกล้องฟูลเฟรมเลย

โดยเฉพาะผู้เขียนที่เน้นถ่ายคนเป็นหลัก การที่มันโฟกัสติดตามดวงตาได้ง่ายแบบนี้ทำให้การทำงานง่ายขึ้นเยอะครับ สลับตาซ้าย/ขวาก็ทำได้ รวมไปถึงสัตว์, นก, รถ, รถไฟ, มอเตอร์ไซค์, จักรยาน ลากยาวไปจนถึงเครื่องบิน และแมลง ซึ่งในที่แสงน้อยเองระบบโฟกัสก็ยังทำงานได้น่าประทับใจ ในเฟรมมืดตึ๊บ แต่โฟกัสเข้าสบาย (ถ้าเป็น GFX50S II ที่เคยใช้ โฟกัสแมวยืนอยู่นิ่ง ๆ ยังยาก…)

FUJIFILM

นี่ทำให้การถ่ายอะไรที่มีการเคลื่อนไหวทำได้ดีขึ้นด้วยครับ เพราะสามารถถ่ายรัวต่อเนื่องสูงสุดขึ้นมาเป็น 7fps (รุ่นก่อน 5fps) แต่ใครอยากเอาไปรัวอย่าลืมนะครับแม้โฟกัสจะดีขึ้น แต่ไฟล์ระดับ 100 ล้านพิกเซล ยิง 7fps นี่ก็หนักหนาสาหัส SSD, HDD คอมเอาเรื่อง…

ความละเอียดระดับ 100 ล้านพิกเซล สีสัน 16-bit ของมีเดียมฟอร์แมต โบเก้อลังการ พลังทำลายที่หาใครมาล้มได้ยาก

ถ้าพูดถึงเซนเซอร์ระดับ 100 ล้านพิกเซล แน่นอนว่าสูงกว่ากล้องทั่ว ๆ ไปในตลาดแน่นอนครับ ข้อดีคือสามารถเก็บดีเทลต่าง ๆ ในเฟรมภาพออกมาได้แบบครบ ๆ รวมไปถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการครอปเฟรมภาพในภาพหลังด้วยเช่นกัน แต่ถ้านึกไม่ออกว่ามันละเอียดขนาดไหนเราจะมาครอปให้ดูกันชัด ๆ

FUJIFILM
ภาพขนาดเต็ม สี Class Chrome
FUJIFILM
ลองครอปเฉพาะส่วนมาให้ดู ดีเทลยังแน่น ๆ ใช้งานได้สบาย

ปกติแล้วกล้องฟูลเฟรมจะให้เฉดสีไฟล์อยู่ที่ 14-bit แต่มีเดียมฟอร์แมตนั้นไปสุดกว่านั้นครับ GFX100S II สามารถทำได้สูงสุด 16-bit ทำให้การไล่โทนของสีทำได้อย่างสวยงาม สีแน่นสวยมีมิติ แต่ความละเอียดของไฟล์ระดับนี้ก็แลกมาด้วยขนาดแบบ uncompress นี่ตกไฟล์ละ 200MB ต่อภาพเลยทีเดียวครับ (แต่ฟูจิเขาก็มีตัวเลือกไฟล์แบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้กันด้วยนะ ทั้ง Lossless และ Compress ช่วยลดขนาดไฟล์ได้)

FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR ถ่ายครึ่งตัวแต่ฉากหลังเบลอกระจุยกระจายหายไปเลย…

บวกกับมิติภาพความเป็นมีเดียมฟอร์แมต ยกตัวอย่างใช้เลนส์ GF80mm F1.7 มิติภาพยังเป็นของเลนส์ 80mm แต่เฟรมภาพเมื่อเทียบกับฟูลเฟรมแล้วจะได้ราว ๆ 63mm F1.4 กันเลยทีเดียวครับ เรื่องทำละลายถือว่าทำได้เหนือชั้นกว่ากล้องฟูลเฟรมมากแบบรู้สึกได้ แต่ก็มีข้อความระวังเหมือนกัน ด้วยความที่มันทำละลายได้สูงมาก ในการถ่ายภาพคนโฟกัสผิดตาภาพอาจเบลอไปได้เลย (ซึ่ง GFX100S II ก็แอบมีอาการโฟกัสผิดตาอยู่บ้างบางครั้งเหมือนกัน)

ลองดึงไฟล์ให้ดูกันบ้าง

กันสั่น 5 แกน สูงสุด 8 สต็อป

อย่างที่กล่าวไปแล้ว กันสั่น 5 แกน ของรุ่นนี้สามารถชดเชยชัตเตอร์สปีดได้ถึง 8 สต็อปด้วยกันครับ ทำให้การใช้งานในที่แสงน้อยทำงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ต้องดัน ISO สูง ซึ่งจากที่ทดสอบถือถ่ายด้วยมือ ก็ทำได้ประมาณ 0.4 วินาที อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความนิ่งของมือแต่ละคนด้วยนะครับ แต่ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าสุดยอดแล้วสำหรับเซนเซอร์ใหญ่แบบนี้

FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR @ 0.4sec / F1.7 / ISO 40 สีฟิล์ม Classic Chrome

Portrait Enhancer ฟีเจอร์หน้าเนียน สวยใสแบบจบหลังกล้อง

แน่นอนว่าเซนเซอร์ที่ละเอียดเกินไปอาจไม่ถูกใจสาว ๆ นักครับ เพราะมันเก็บดีเทลบนใบหน้ามาได้แบบครบถ้วนทุกรูขุมขน แต่ในรุ่นนี้มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า ‘Portrait Enhancer’ ปรับหน้าเนียนแบบจบหลังกล้องได้ถึง 3 ระดับ เวลาเอารูปให้นางแบบดูหลังกล้อง เลยส่งภาพเข้ามือถือเลยก็ทำให้แฮปปีขึ้นเยอะ

ภาพทดสอบ Portrait Enhancer

FUJIFILM
ภาพจากไฟล์ RAW
FUJIFILM
Portrait Enhancer ON (MID) จากไฟล์ HEIF หลังกล้อง ดีเทลยังอยู่แต่ผิวมีความนวลเนียนสวยงามมากขึ้น

Film Simulation 20 แบบ พร้อมฟิล์มสีตัวใหม่ Reala ACE

ของดีของเด็ดของค่ายฟูจิต้องยกให้ Film Simulation นี่ล่ะครับ ในรุ่นนี้เขาใส่มาให้แบบครบ ๆ ถึง 20 แบบ พร้อมสี Reala ACE ตัวใหม่ ซึ่งที่ทางฟูจิเขามีสีฟิล์มให้เลือกมากมายขนาดนี้ก็เพราะเขามีประสบการณ์ทำฟิล์มถ่ายภาพมาอย่างยาวนาน จึงถอดสูตรสีฟิล์มดังในอดีตหลายตัวมาใส่ให้ในกล้องยุคดิจิทัล จนเป็นจุดขายสำคัญสำหรับกล้องฟูจิไม่แม้แต่กระทั้งซีรีส์ GFX ด้วยก็ตาม อย่างตัวเด็ดเลยก็ Classic Chrome, Classic Negative, Eterna และ Across ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ

FUJIFILM
สีฟิล์ม CLASSIC NEGATIVE

นอกจากมิติภาพ ความละเอียดสูง โบเก้ที่สวยงามของมีเดียมฟอร์แมตแล้ว การที่มีสีฟิล์มสวย ๆ ทำให้เราจบหลังกล้องได้สบาย ๆ แบบ SOOC “Straight Out Of Camera” ได้ทันทีเลยครับ ซึ่งถ้าใครอยากได้สีฟิล์มนอกเหนือจากที่ให้มาก็ยังสามารถ custom เองได้ และมีเว็บไซต์ดัง ๆ อย่าง Fuji X Weekly ให้เข้าไปเลือกสูตรฟิล์มมาลองเล่นกันอยู่

FUJIFILM
สีฟิล์ม CLASSIC CHROME

จากการเอาไปถ่ายทั้งในสตู และ outdoor นางแบบต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าโทนภาพนั้นสวยอยู่แล้วครับ จบงานง่ายสบาย แถมสีสวยตั้งแต่หลังกล้องทำให้การถ่ายภาพของเราสนุกยิ่งขึ้นไปอีก เป็นสเน่ห์สำคัญของกล้องฟูจิเลยจริง ๆ

ส่วนสีฟิล์ม Reala ACE ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามันค่อนข้างคล้าย Provia ซึ่งเป็นสีมาตรฐานอยู่เหมือนกันครับ แต่จะให้โทนฟิล์มมากกว่าสีสันไม่จัดจ้านเท่า ดูสุขุมลึกลงไปอีก แต่ถ้าเทียบความอิมแพคตั้งแรกแรกเห็นยังยกให้ Classic Negative เช่นเดิม

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่รุ่นนี้ใช้เป็นรหัส NP-W235 ที่เคลมว่าถ่ายได้ประมาณ 530 ภาพ แต่การใช้งานจริงสามารถถ่ายเกินได้สบาย ๆ ครับ เพียงพอต่อการใช้งาน 1 วัน กดเพลิน ๆ 800++ ภาพก็ยังไหว แบตไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร แต่เมมที่จะน่าจะเต็มกันก่อน 😂

ภาพจาก GFX100S II

รูปอาจการเพิ่ม/ลดแสงนิดหน่อย แต่เป็นโทนจาก Film Simulation นะครับ สีฟูจินี่สวยจริง ๆ !

FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Negative
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Negative
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Negative
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Negative
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome + Black mist
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome + Black mist
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome + Black mist
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome + Black mist
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome

ส่วนเซตด้านล่างมีการลองแต่งสีเพิ่มเติมในโปรแกรม Capture One Pro ครับ เอาแปะให้ดูกันด้วยเลยล่ะกัน ไหน ๆ ก็ถ่ายมาแล้ว !

FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 80mm F1.7 R WR สี Classic Chrome
FUJIFILM
GFX100S II + GF 55mm F1.7 R WR สี Classic Chrome

สรุป

FUJIFILM GFX100S II นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากได้กล้องที่คุณภาพเหนือกว่า Full frame ในราคาที่จับต้องง่ายตัวหนึ่งในตลาดเลยล่ะครับ โดยมีราคาค่าตัวเฉพาะบอดี้อยู่ที่ 184,990 บาท อยู่ในระดับเดียวกับ Full frame ตัวท็อปของหลาย ๆ ค่าย

แม้ว่าราคาบอดี้จะจับต้องได้ก็ตาม ในเลนส์ในระบบ GF ก็มีราคาพอสมควรครับ อย่าง GF 55mm F1.7 R WR และ GF 80mm F1.7 R WR ที่นำมาใช้ครั้งนี้ก็มีราคาอยู่ที่ 89,990 บาท และ 129,990 บาท ตามลำดับ ก็คงต้องคิดเผื่อเลนส์ที่จะใช้เอาไว้ด้วย

ซึ่งถ้าใครรับราคา, น้ำหนัก, มีที่เก็บไฟล์เพียงพอ GFX100S II ไม่ทำให้คุณผิดหวังแน่นอนครับ นอกจาก Film Simulation ของเด็ดแล้ว ไฟล์ฟูจิเองยังสามารถเปิดกับโปรแกรม Capture One ซึ่งเป็นโปรแกรมแต่งภาพที่มืออาชีพเลือกใช้งานกันในสตูดิโอได้ด้วย (มีเดียมฟอร์แมตเพื่อนบ้านบางค่ายไม่รองรับ ชีวิตทำงานสำหรับบางคนลำบากทันที เช่นผู้เขียนเป็นต้น…)

GFX100S II วางคู่กับ X-Pro3 จากฝั่ง X- Series

แถมท้ายเรื่องการแต่งภาพ จากที่ลองสังเกตโปรแกรมแต่งภาพ Capture One กินสเปกน้อยกว่าโปรแกรม Lightroom Classic ครับ ไฟล์ 102 ล้านพิกเซลจึงไม่เป็นปัญหาบนเครื่องที่ทดสอบอย่าง Mac mini M1 (2020 RAM 16GM SSD 512GB) ซักเท่าไรแม้จะเก่าแล้วก็ตาม จะมีก็แต่การเรนเดอร์ไฟล์ที่อาจต้องรอนานกว่าไฟล์กล้องทั่ว ๆ ไปสักหน่อย แต่ก็ไม่ได้ค้างหรืออืดขึ้นจนหงุดหงิด เข้าใจได้ก็ไฟล์มันหนักนี่เนอะ

สุดท้ายต้องขอบคุณ Fujifilm Thailand ด้วยครับที่ส่งกล้องมาให้รีวิวในครั้งนี้ 🙏

mentionslegales ph